การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศทั่วโลก นักวิชาการกำลังให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการศึกษาสภาพภูมิอากาศ ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมนักวิจัยจากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ค้นพบหลักฐานบ่งบอกความแปรปรวนของลมมรสุมฤดูร้อนในอดีตจากการศึกษาดินตะกอนที่สะสมตัวในหนองปะโค อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 10,000 ปี (สมัยโฮโลซีน) มีความสัมพันธ์กับการเกิดลมมรสุม ในเขตเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากลักษณะดินตะกอนในทะเลสาบน้ำจืด (หนอง) โดยในช่วงระหว่างลมมรสุมมีกำลังแรง (ปริมาณน้ำฝนมาก) ระดับน้ำในทะเลสาบจะเพิ่มสูงขึ้น ดินตะกอนจะสะสมตัวเป็นชั้นหนา ปะปนกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำในทะเลสาบ แต่เมื่อลมมรสุมอ่อนกำลัง (ปริมาณน้ำฝนน้อย) ระดับน้ำในทะเลสาบจะลดระดับจนตื้นเขิน ทะเลสาบเปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ พรุ พืชบกและต้นหญ้าสามารถเจริญเติบโตได้ ดินตะกอนที่พบก็จะปะปนไปด้วยซากพืชและเศษไม้ โดยแต่ละช่วงเวลาอาจใช้เวลานานหลายสิบปี
งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสาร Quaternary Science Reviews ในหัวข้อ “Hydroclimatic shifts in northeast Thailand during the last two millennia – the record of Lake Pa Kho” ระบุว่าในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา ลมมรสุมเอเชียตะวันตกเฉียงใต้มีความแปรปรวน โดยลมมรสุมกำลังแรงเกิดขึ้นในช่วง 2,120-1,580 ปี ช่วง 1,150-980 ปี และหลังจาก 500 ปี สลับกับลมมรสุมอ่อนกำลังในช่วง 1,580-1,150 ปี และช่วง 650-500 ปี
นอกจากนี้ การศึกษาข้อมูลทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของดินตะกอน ยังพบว่ากิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างชัดเจนในช่วง 200-300 ปี ก่อนปัจจุบัน
ดร.สกลวรรณ ชาวไชย หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศวิทยาของหนองปะโค ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมเอเชียช่วงสมัยโฮโลซีน การศึกษาดินตะกอนจากทะเลสาบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนี้ ช่วยเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศบรรพกาลที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถใช้ในการวิเคราะห์ อภิปรายความแปรปรวนของลมมรสุมเอเชีย รวมถึงการเคลื่อนไหวของร่องมรสุมในอดีต นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบสนองของระบบนิเวศวิทยาทะเลสาบ ต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุม ข้อมูลนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนขุดลอกหนองน้ำในพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่ทางเกษตรกรรม รวมถึงการวิเคราะห์บทบาทของประชากรและกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมบริเวณรอบหนองหานในอดีต รวมถึงการวิเคราะห์บทบาทของประชากรและกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมบริเวณรอบหนองน้ำ ในอดีต ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลโบราณคดีในพื้นที่”
ติดต่อสอบถามข้อมูล ดร.สกลวรรณ ชาวไชย sakonvan.chawchai@geo.su.se
- ข่าวที่เกี่ยวข้อง Lakes and wetlands tell an important story