บันทึกการแข่งขันทำแผนที่ธรณีวิทยา ประเทศอินโดนีเซีย

ในช่วงวันที่ 23-29 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา พวกเราทั้งสามคน (นายวัชรพล สียางนอก นายชิตชน ชิตพยัคฆ์ และ นางสาวอิสราภรณ์ เศรษฐ์ธนันท์ นิสิตชั้นปีที่ 3) ได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันทำแผนที่ธรณีวิทยาที่เมือง Yogyakarta ประเทศอินโดนีเชีย (International Geomapping Competition 2015) จัดขึ้นโดย Universitas Gadjah Mada การแข่งขันครั้งนี้ มีผู้แข่งขันเข้าร่วมทั้งหมด 15 ทีม (อินโดนีเชีย 12 ทีม มาเลเชีย 2 ทีม และประเทศไทย 1 ทีม) ลักษณะการแข่งขันเป็นการเดินภาคสนามเป็นเวลา 3 วัน จัดทำโปสเตอร์และนำเสนอผลงาน

IMG_0088
การออกภาคสนาม

วันแรกที่เริ่มการแข่งขัน (23 มีนาคม 2558) ในช่วงเช้าจะเป็นพิธีเปิดและมีการบรรยายเกี่ยวกับธรณีวิทยาของพื้นที่ที่จะออกภาคสนาม โดยส่วนใหญ่บรรยายถึงหมวดหิน (formation) ที่อาจจะพบได้ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปีนี้พื้นที่ศึกษาอยู่บริเวณ Southern Mountain Zone ทางใต้ของเมือง Yogyakarta ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากเพราะคนไทยอย่างพวกเราไม่มีความรู้เรื่องธรณีวิทยาของประเทศอินโดนีเซียเลยแม้แต่น้อย ฮ่าๆ

หินบริเวณนี้มีอายุน้อยมาก อยู่ในช่วง Oligocene – Miocene เอง หมวดหินแต่ละชื่อก็ออกเสียงยากซะเหลือเกิน เช่น Similir Fm. “สิมิลีร” (ตัว r เค้าจะกระดกลิ้นกันรัวมาก) หรือแม้แต่ Nglanggran Fm. ที่ออกเสียงว่า “งลังกรัน” หินที่นี้ส่วนใหญ่เป็นหินที่มีส่วนประกอบของชิ้นส่วนจากภูเขาไฟ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้มีภูเขาไฟมีพลังจำนวนมาก

สำหรับตอนบ่ายจะจับฉลากเลือกพื้นที่ศึกษา แต่ละพื้นที่ศึกษาจะได้ขนาดพื้นที่ 2×2 กิโลเมตร ซึ่งพวกเราจับได้กลุ่ม 8 ชื่อกลุ่ม Miocenica (ปีนี้ชื่อทีมทั้งหมดเป็นชื่อของ Smaller Forams) แต่จะทีมจะได้กล่องอุปกรณ์ออกฟิลด์มาทีมละ 1 กล่อง จากนั้นจะแยกย้ายกันไปที่บ้านพักของแต่ละทีม (หรือเรียกว่า basecamp)

ทีมของพวกเราได้พักบ้านเดียวกับทีมที่มาจากประเทศมาเลเซีย เจ้าของบ้านเป็นคุณยายใจดีมาก มีสระว่ายน้ำด้วย (แต่ไม่ได้ว่ายเลย ฮ่าๆ) เค้าบอกว่า คุณยายสร้างสระว่ายน้ำให้คนในหมู่บ้านมาเล่น เค้าอยากเห็นเพื่อนบ้านมีความสุข

สำหรับวันที่ 24-26 มีนาคม จะเป็นช่วงเวลาของการออกภาคสนาม โดยเค้าจะกำหนดเวลาให้แต่ละวัน เริ่มตั้งแต่ 07.00-16.00 น. ยกเว้นวันที่ 26 จะให้ถึงแค่ 15.00 น. ถ้ากลับมาช้าจะถูกหักคะแนน แต่พวกเราไม่เคยกลับมาช้าเลยสักวัน วันที่สองกลับมาก่อนเกือบหนึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ ฮ่าๆ

สำหรับการเดินภาคสนาม พวกเราจะมีเพื่อนชาวอินโดฯ มาเดินกับพวกเราด้วย เนื่องจากพวกเราพูดภาษาอินโดนีเซียหรือภาษาชวาไม่ได้เลย ซึ่งเราเรียกคนที่มาเดินกับเราว่า LO (Liaison Officer) ทีมเรามี LO ทั้งหมด 3 คน แต่ละคนจะผลัดกันมาเดินกับพวกเราวันละคน ตอนเดินภาคสนาม พวกเราเลือกที่จะเดินตามทางน้ำหรือไม่ก็ถนน เพราะมีโอกาสสูงที่จะพบหินโผล่มากกว่าเดินบนภูเขา เพราะมันเป็นฤดูฝน (LO บอกว่า เดินบนภูเขามันมีแต่ดินกับหญ้า น่าจะหาหินโผล่ยาก) สำหรับทางน้ำในช่วงฤดูฝน แน่นอน น้ำเต็มเลย เป็นการเดินภาคสนามครั้งแรกที่เดินลุยน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีเลยทีเดียว ตอนเดินภาคสนามเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจาก LO เป็นสิ่งเล็กๆที่พวกเรามักจะมองข้าม

หลังจากกลับมาจากภาคสนาม เราจะมาคุยสรุปข้อมูลหินแต่ละจุดศึกษาที่เราเจอมาในแต่ละวัน จากนั้นจะไปอาบน้ำและนอนพัก เพื่อรอตื่นมากินข้าวเย็นตอน 18.00 น. ส่วนเวลา 19.00-22.00 น. เค้าจะให้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทำโปสเตอร์ที่จะใช้ในการพรีเซนต์วันที่ 28 มีนาคม โดยในคอมพิวเตอร์จะประกอบด้วยแผนที่ธรณีวิทยาของพื้นที่ศึกษาและไฟล์หนังสือที่ทางโครงการจัดให้ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพวกการทำแผนที่ การออกภาคสนาม การทำ stratigraphic column เป็นต้นและไฟล์เปเปอร์หรือหนังสือที่เราเตรียมไปเอง แต่ต้องส่งรายชื่อไฟล์ไปให้ทางโครงการพร้อมใบสมัคร เมื่อหมดเวลาของการทำโปสเตอร์ เราจะวางแผนการเดินทางสำหรับการเดินทางวันต่อไป

DSC_0319

Poster Making and Presentation

ในส่วนของการทำโปสเตอร์และนำเสนอผลงาน พวกเราทำในวันสุดท้ายของการแข่งขันในระยะเวลาที่ผู้จัดกำหนดให้ และถึงแม้จะเริ่มต้นช้ากว่าทีมอื่น แต่พวกเราก็มั่นใจในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว และไม่เสียดายเวลาที่พวกเรานั่งคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

โปสเตอร์จะต้องประกอบไปด้วย Geological map, Track map, Geological section, Stratigraphic column, Structure analysis, และ Geological history พวกเราได้คุยปรึกษาและสรุปผลของการเดินภาคสนามกันแล้วในวันก่อนๆ พอถึงวันทำโปสเตอร์ พวกเราก็แบ่งหน้าที่และลงมือทำเลย งานค่อยๆ เสร็จทีละส่วน ทั้งคำบรรยายต่างๆ แผนที่ หรือภาพวาด แล้วเอามาประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างในเวลาประมาณ 19.00 ฮ่าๆ ซึ่งเหลืออีกแค่ 4 ชม. ในการแปะโปสเตอร์ ทำpresentation และ narration! (เหลือเยอะจัง) แต่พวกเราช่วยเหลือและเสริมกันและกันในส่วนที่ขาดหรือยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผลัดมือกันบ้างตอนมึนๆ เดินไปดื่มน้ำชาอินโดนีเชียบ้าง (Melati teh อร่อยมาก!><) แล้วส่วนใหญ่ตลอดวันของการทำโปสเตอร์และ presentation พวกเราจะยิ้มและหัวเราะบ่อยมาก จน LO ที่ดูแลพวกเราชอบแกล้ง แล้วพูดว่า “focus focus” สุดท้ายทุกอย่างก็เสร็จก่อนเวลาประมาณ 5 นาที! ตื่นเต้นและดีใจสุดๆกับผลงานที่มีหัวข้อเป็นสีชมพูสดใส XD พวกเราไปหยิบน้ำชากันคนละแก้วเพื่อเตรียมชัยโยตอนที่นาฬิกาที่นับถอยหลัง(ฉายอยู่ที่หน้าเวที) เหลือ 00.00.00 minutes …..5…4..3..2.1 ชัยโย!!!! ทั้งห้องมีแต่เสียงตะโกนดีใจ โล่ง สบาย และเสียงปรบมือจากผู้จัดทุกๆคน งานเสร็จแล้ว!

DSC_0194

สิ่งที่น่าประทับใจคือความหลากหลายของโปสเตอร์ของทุกๆ ทีม ทั้งความสวยงาม และรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อมูลที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป เช่น Geomorphological section, Hazard map, Petroleum potential เป็นต้น พวกเราได้เรียนรู้อย่างมาก และได้เห็นแนวคิดของนักธรณีวิทยาในอนาคตในรุ่นราวคราวเดียวกัน

เมื่อถึงเวลานำเสนอผลงาน พวกเราก็ทำเต็มที่ เพราะได้ฝึกซ้อมและลองตอบคำถามของเพื่อนๆจากอินโดฯด้วย จากนั้นก็เป็นช่วงพิธีปิด และ Gala dinner สุดอลังการและอบอุ่น ทุกๆคนใส่เสื้อ Batik มาร่วมงาน และมีการแสดงจากนักศึกษา ทั้งการแสดงร่วมสมัยและการแสดงท้องถิ่น บรรยากาศงานสนุกมาก พวกเราได้ออกไปเต้นกับเพื่อนๆหน้าเวทีในเพลงแนว Dangdut ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับบ้านเราก็คงจะเป็นเพลงลูกทุ่งนี่เอง

จนดำเนินมาถึงการประกาศผล รางวัลที่ประกาศก่อนคือ Best Poster และ Best Presentation ซึ่งพอพวกเราไม่ได้รางวัลนี้ ก็เลยไม่ได้คาดหวังถึงรางวัลที่ 1-3 แล้ว ฮ่าๆ พวกเราเลยนั่งดูบรรยากาศการประกาศผลแสนตื่นเต้นโดยไม่ได้คาดคิดอะไร และแล้วก็มาถึงการประกาศ 1st Winner ซึ่งเป็นการประกาศที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่การอ่านชื่อมหาวิทยาลัย แต่มีคนใส่เครื่องแบบคล้ายทหาร 2 คน ถือธงประกาศผล (ซึ่งจะมีสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในนี้) เดินแบบ marching มาจากด้านหลังของงาน แล้วขึ้นมาบนเวที คนหนึ่งค่อยๆจับธงแล้วคลายผ้าออก พวกเราลุ้นอยู่ว่าในธงนั้นจะเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยใด วินาทีที่ผ้าคลายออกแล้วค่อยๆเห็นตราพระเกี้ยว พวกเราแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลย! พวกเราทั้งสามคนยืนงงอยู่สักพัก (จ้องที่ตราพระเกี้ยวด้วยความสงสัย) จนพิธีกรบอกว่าให้ขึ้นเวทีมารับรางวัล ความรู้สึกตอนนั้น ทั้งดีใจ ทั้งงง ได้ได้ยังไง? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเป็นตัวหนาอยู่ตรงหน้า จริงอยู่ที่โปสเตอร์ของทีมอื่นมีรายละเอียดพิเศษต่างๆ แต่อาจจะเป็นเพราะกระบวนการคิดและเชื่อมโยงของทีมเราก็ได้ ที่นำมาสู่ชัยชนะ กรรมการท่านหนึ่งกล่าวก่อนการแข่งขันว่า “I didn’t expect anything, I just want to know how you think as a geologist.” อาจจะเป็นตรงนี้ที่ทำให้พวกเราได้รับรางวัลที่แสนมีค่านอกจากนี้ความเป็นเพื่อนและความผูกพันตลอดระยะเวลา 7 วันของการแข่งขันถูกสร้างขึ้นมาอย่างเหนียวแน่น

ในคืนสุดท้ายพวกเราถ่ายรูปเล่นกันโดยหลายๆคนขอให้พวกเราทำท่า crazy style ในแบบที่พวกเราชอบทำ ^^ ภาพเหล่านั้นยังคงอยู่ให้สร้างรอยยิ้มเสมอ และนี่คงเป็นการเดินทางที่มีองค์ประกอบไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่มิตรภาพของ future geologist ใน SE Asia ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง (’:

DSC_0147

วัฒนธรรม และการปรับตัว

ด้วยอาณาบริเวณอันกว้างขวาง บรรดาเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวนมาก ผู้คนและสภาพแวดล้อมที่แสนอันตราย ทุกปัจจัยเหล้านั้นได้เพิ่มความหลากหลายให้กับประเทศหมู่เกาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียให้ไม่ต่างอะไรกับมหานครนิวยอร์กแห่งสหรัฐอเมริกาเท่าใดเลย
ตั้งแต่อดีตมา ผืนดินแห่งนี้ได้ถูกฉาบทับด้วยเรื่องราวต่างๆนานาจากผู้คนในหลากช่วงกาลเวลาและเชื้อชาติ ด้วยกำแพงกั้นพรมแดนที่เรียกว่า ภูมิประเทศ ทำให้เรื่องราวเหล่านั้นถูกหล่อหลอมจนตกผลึกเป็นสิ่งทีรียกว่า “วัฒนธรรม” และเมื่อเวลาผ่านเลยไป สติปัญญาของมนุษย์ย่อมที่จะเอาชนะกำแพงกั้นเหล่านั้นได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการแลกเปลี่ยนและหลอมรวมของวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านั้น ประเทศอินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมหลากหลายจากหลายถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนาและความเชื่อ ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามก็ตาม หรือจะเป็นภาษาถิ่นที่มีมากถึง 700 ภาษา แต่ก็หาใช่อุปสรรคในการสื่อสารไม่ เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้พัฒนาภาษากลางมาเอาไว้ใช้ในการสื่อสาร

ด้วยความคุ้นเคยกับความหลากหลาย ชาวอินโดนีเซียจึงเป็นมิตรและพร้อมที่จะต้อนรับทุกคนที่มาเยือนประเทศของเขา พวกเขาให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างดีแม้ว่าจะมีปัจจัยทางด้านภาษามาเป็นอุปสรรคก็ตามที (ประสบการณ์โดยตรงจากผู้เขียน) พวกเขาเข้าช่วยเหลือพวกเราอย่างเต็มที่ แม้จะไม่เข้าใจกันในด้านภาษา แต่ก็ราวกับว่าใจของพวกเราสื่อสารเข้าใจกันว่าต่างฝ่ายต่างต้องการสิ่งใด (แน่นอนว่าต้องมีท่าทางประกอบ) และนอกเหนือจากความเป็นมิตรและรอยยิ้ม พวกเขายังมีความเชื่อและศรัทธาแรงกล้าต่อศาสนาที่นับถือ การละหมาดอันเป็นกิจวัตรเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในตัวเมืองและชนบท และยังมีเสียงประกาศเตือนเมื่อถีงเวลาอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงการรรณรงค์และส่งเสริมของชาวเมืองทุกๆคน

และนอกเหนือจากวัฒนธรรมในสังคมที่หลากหลาย ยังนำมาสู่อาหารที่มีหลากหลายไม่แพ้กัน ที่นี่ คุณสามารถพบเจอและลิ้มลองกับอาหารหลากหลายประเภทตั้งแต่อาหารที่ถูกปรุงด้วยเครื่องแกงรสเผ็ดร้อนจากเกาะสุมาตรา (ที่ต้องรับประทานด้วยมือ) ไปจนถึงรสชาติหวานละมุนของชาจัสมินจากเกาะชวา แต่อย่างไรก็ตาม อาหารหลักๆของพวกเขาจะเน้นไปทางเครื่องเทศรสจัดและเข้มข้น (คล้ายข้าวแกงบ้านเรา) เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆอจทำให้มีกลิ่นของเครื่องเทศติดตามร่างกายได้เลย (ประสบการณ์โดยตรงอีกเช่นกัน) แต่ที่ประทับใจที่สุด ตัวผู้เขียนขอยกให้ซุปหางวัวมาเป็นที่หนึ่งในใจ โดยตัวซุปของที่นู่นนั้นจะเคี่ยวนานเป็นพิเศษทำให้ ไขมันที่เก็บอยู่ในผิวหนังและเนื้อส่วนห่างนั้นซึมออกมาผสมลงในน้ำที่ใช้ต้ม ทำให้ได้น้ำซุปที่เข้มข้นดุจซุปกระดูกหมูของร้านชาบูตง (Chabuton) ซึ่งเมื่อเติมผักอย่าง แครอทและมันฝรั่งลงไป จะได้รสชาติที่เข้ากันดีไม่เลี่ยนจนเกินไปของ เนื้อหางตุ๋นนิ่มๆ น้ำซุปเข้มข้น และผักกรอบๆ ซึ่งเมนูนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกคนลองหารับประทานให้ได้ เมื่อไปถึงอินโดนีเซีย

ส่วนเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว อินโดนีเซียนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวให้รับชมหลายรูปแบบมาก เนื่องมาจากปัจจัยทางด้านภูมิประเทศ ทำให้เกิดสัณฐานที่สวยงามเหมาะแก่การมารับชม เช่น ทะเลสาบ ภูเขาไฟ ลานลาวา ชายหาด และด้วยเนื้อที่อันอุดมสมบูรณ์ ยังเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเดินวิบาก (trekking) เพื่อไปสู่ทัศนียภาพบนยอดเขา หรือส่องสังเกตพวกสัตว์ป่า ซึ่งนอกจากนี้ แล้ว อินโดนีเซียยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งสะท้อนถึงภูมิหลังของแต่ละท้องที่ เช่นอนุสาวรีย์อิสรภาพ ซึ่งแสดงถึงการประกาศตัวเป็นเอกราชจากอาณานิคม หรือ อนุสาวรีย์ของสงครามในเมืองก็ดี รวมไปถึงสถานที่ทางศาสนาที่แสดงถึงวัฒนธรรมและความเชื่ออันหลากหลาย เช่น โบสถ์ มัสยิถ วัดฮินดู วัดพุทธ ที่โด่งดังจนเป็นมรดกโลกก็เช่น วัดบุโรพุทโธที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปแวะเวียนนี่แหละ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งการค้ามากมายสำหรับคนที่ชอบแนวชอปปิ้ง กิน เดิน อีกด้วย

Tags: