หินที่เกิดการแปรสภาพไปจากหินต้นกำเนิด โดยมีปัจจัยหลักคืออุณหภูมิและความดัน
การแปรสภาพของหิน (metamorphism) สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
- การแปรสภาพสัมผัส (contact metamorphism) เป็นการแปรสภาพจากความร้อน เกิดขึ้น ณ บริเวณที่หินหนืดแทรกดันขึ้นมาสัมผัสกับหินท้องที่ ความร้อนจากหินหนืดหรือหินหลอมเหลวจะทำให้หินท้องที่ในบริเวณนั้นแปรสภาพไปจากเดิม
- การแปรสภาพบริเวณไพศาล (regional metamorphism) เป็นการแปรสภาพของหินซึ่งเกิดเป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล เกิดจากความร้อนและความดัน โดยปกติการแปรสภาพแบบนี้จะไม่มีความเกี่ยวพันกับมวลหินอัคนี และมักจะได้หินแปรที่มีริ้วขนาน (foliation) มองเห็นเป็นแถบลายสลับสี เกิดมาจากการตกผลึกใหม่ของแร่ มักเกิดบริเวณที่แผ่นธรณีภาคมีการมุดตัว (subduction)
หินแปรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
หินแปรไม่มีริ้วขนาน (non-foliated metamorphic rock) เกิดจากอุณหภูมิที่สูงมากทำให้แร่ในหินเกิดการตกผลึกใหม่ ผลึกจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และมีการจับตัวกันแน่นขึ้น มักพบในหินที่ประกอบด้วยแร่ชนิดเดียว ตัวอย่างเช่น หินอ่อน (marble) ประกอบด้วยแร่แคลไซต์ที่ตกผลึกใหม่จากการแปรสภาพของหินปูน หินควอตไซต์ (quartzite) ประกอบด้วยแร่ควอตซ์ที่ตกผลึกใหม่จากการแปรสภาพมาจากหินทราย เป็นต้น
หมายเหตุ หินแปรแบบไม่มีริ้วขนานเกิดจากการแปรสภาพแบบสัมผัส แต่อาจเกิดจากการแปรสภาพบริเวณไพศาลได้ เนื่องจากมีการกระทำของความร้อนร่วมด้วย
หินแปรมีริ้วขนาน (foliated metamorphic rock) เกิดจากความร้อนและความดันทำให้แร่ในหินมีการเรียงตัวใหม่เป็นแนวขนานกันตามทิศทางที่ตั้งฉากกับแรงกระทำ ตัวอย่างเช่น หินชนวน (Slate) หินฟิลไลต์ (Phyllite) หินชีสต์ (Schist) หินไนส์ (Gneiss)